logo
ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
icon
icon
ภาษา
icon
ประวัติจังหวัด
"จังหวัดราชบุรี" มีชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง หมายถึง "เมืองพระราชา" เป็น เมืองเก่าแก่ เมืองหนึ่งของประเทศไทย จากการศึกษาและขุดค้นของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี พบว่า ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้เป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคน หลายยุคหลายสมัย และมีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต จากหลักฐานทางโบราณสถานและ โบราณวัตถุจำนวนมาก ทำให้เชื่อได้ว่ามีผู้คนตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคหินกลาง ตลอดจนได้ค้นพบเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี ได้เคยดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย ซึ่งในช่วงปลายสมัย กรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ว่าเมืองราชบุรี เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญเป็นสมรภูมิการรบหลายสมัย โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ยกทัพมาตั้งรับศึกพม่าใน เขตราชบุรีหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ

ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๐ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.๒๔๓๗ ได้ทรงเปลี่ยนการ ปกครองส่วนภูมิภาค โดยรวมหัวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกันตั้งขึ้นเป็นมณฑล และได้รวม เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี และเมือง ประจวบคีรีขันธ์ รวม ๖ เมือง ตั้งขึ้นเป็นมณฑลราชบุรี โดยตั้งที่บัญชาการมณฑล ณ เมืองราชบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง (ต่อมาเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดราชบุรี หลังเก่าและในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี) และในปีพ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ย้ายที่บัญชาการจากฝั่งซ้ายกลับมาตั้งรวมอยู่แห่งเดียวกับศาลาว่าการมณฑลราชบุรีทาง ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑล ทั้งหมด มณฑลราชบุรีจึงถูกยกเลิกและคงฐานะเป็น "จังหวัดราชบุรี" จนถึงปัจจุบัน