วันที่ 14 เมษายน 2568 ที่บริเวณลานกลางแจ้งหน้าพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานเปิดงานเทศกาลหนังเงานานาชาติและเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 18 มี พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมด้วย นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรมจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ,นางผ่องพรรณ ศิริวัฒนาวงศา ผอ.สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานราชบุรี ,นายธีรเดช โปสพันธุ์ นายอำเภอโพธาราม ,นายสิริชัย นพศรีจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสร้อยฟ้า ส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธีเปิดงานครั้งนี้ โดยมี น.ส.สุริสา นิลนารถ วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน
จากนั้นเป็นการแสดงจากประเทศอินโดนีเซีย และการแสดงจากคณะพระจันทร์พเนจร "นาคบาศ" การแสดงจากประเทศอินเดีย และการแสดงโขนติดตัวหนัง ตอน "ถวายกล่องดวงใจ" ซึ่งเป็นการแสดงร่วมกันระหว่างการเชิดหนังใหญ่วัดขนอน และ การแสดงโขน (ศิษย์ศิลปากร)
โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญของหนังใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนงไว้ด้วยกัน เช่น จิตรกรรม ศิลปะนาฏศิลป์ การละคร ดนตรีปี่พาทย์ รวมทั้งการเคลื่อนไหว การแสดงหนังใหญ่จึงมีคุณค่าทางศิลปะการแสดง ถึงความสามารถของบรรพบุรุษ สำหรับหนังเงานานาชาติที่มีมากกว่า 20 ประเทศ มีคณะแสดงหนังเงา การเล่นเงา เป็นประเพณีเก่าแก่และมีประวัติที่ยาวนานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเชีย กัมพูชา และไทย การจัดกิจกรรมประกอบด้วย การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอาทิ การแสดงหนังใหญ่จากวัดขนอน วัดบ้านดอน วัดสว่างอารมณ์ และการแสดงหนังเงานานาชาติ จากประเทศอินเดีย ประเทศลาวและประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกันนี้ได้จัดให้มีการแสดงทางวัฒนธรรมจากภูมิภาคต่างฯในประเทศไทยอีกด้วย
ซึ่งหนังใหญ่วัดขนอน ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะการแสทั้งขั้นสูง ที่ยังอนุรักษ์การแสดงแบบพื้นบ้านเพียงคณะเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีคุณค่าอันประมาณมิได้ เพราะการแสดงหนังใหญ่นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการผสมผสานงานศิลปะทั้ง 5 แขนง คือ หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ วาทศิลป์ และวรรณศิลป์ วัดขนอนจึงเป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและคนภายนอกเสมอมา ปี พ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้วัดขนอนช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้งหมดไว้ โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดราชบุรี รับสนองโครงการพระราชดำริ จากการสืบทอดการแสดง อนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟู ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ไว้เป็นอย่างดี จนได้รับ "รางวัลจากยูเนสโก" (UNESCO) ด้านชุมชนดีเด่นของโลก ที่มีผลงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม และเป็นแหล่งอนุรักษ์ เรียนรู้ฝึกฝนศิลปะทุกแขนงที่เกี่ยวกับหนังใหญ่ เพื่ออนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอนให้คงอยู่สืบไป และนับเป็นโอกาสอันดีที่ในปีนี้ได้นำมหรสพที่เก่าแก่มรดกของชาติไทย และมรดกหนังเงาในชาติต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย สปป.ลาว มาร่วมแลกเปลี่ยนการแสดง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและการยกระดับให้ "หนังใหญ่" ได้รับรองจากยูเนสโกเป็นมรดกโลกต่อไป
0000000ขอบคุณภาพข่าว สวท ราชบุรี
ที่มา : Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรี