logo
ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
icon
icon
ภาษา
icon
เกี่ยวกับจังหวัดราชบุรี
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดในภาคกลางด้านตะวันตกที่มีภูมิประเทศหลากหลาย จากพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลองสู่ภูเขาสูง มีเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวยาวเป็น แนวพรมแดนไทย – เมียนมา ตั้งอยู่ละติจูดที่ ๑๓ องศา ๐๙ ลิปดาเหนือ ถึง ๑๓ องศา ๕๗ ลิปดาเหนือ และลองติจูด ๙๙ องศา ๑๐ ลิปดาตะวันออกถึง ๑๐๐ องศา ๐๓ ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมด ๕,๑๙๖.๔๖๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๒๔๗,๗๘๙ ไร่ เป็นร้อยละ ๑.๐๑ ของประเทศ และอันดับที่ ๔๒ ของประเทศ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลขที่ ๔ ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ
ติดต่อกับ อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอท่าม่วง และอำเภอ
ท่ามะกาจังหวัดกาญจนบุรี
ทิศใต้
ติดต่อกับ อำเภอเขาย้อย และอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
ทิศตะวันออก
ติดต่อกับ อำเภอกำแพงแสน อำเภอเมืองนครปฐม
อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว
จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอบางคนทีอำเภออัมพวา
จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศตะวันตก
ติดต่อกับ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สภาพภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบและราบลุ่ม แต่มีความหลากหลายของสภาพภูมิประเทศถึง ๔ ลักษณะ ประกอบด้วย

1. พื้นที่ภูเขาสูง มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงอุดมด้วยป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าไผ่ครอบคลุมด้านใต้ติดกับจังหวัดเพชรบุรี ด้านตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณ ชายแดนมีเทือกเขาตะนาวศรีที่สูงชัน ด้านตะวันตกติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา และด้านตะวันตกของอำเภอปากท่อ

2. พื้นที่ราบสูง มีลักษณะเป็นที่ลาดเชิงเขาและที่เนินลาด มีแม่น้ำภาชีและลำห้วยสาขาเป็นแม่น้ำสายหลัก เป็นพื้นที่ถัดจากบริเวณเทือกเขามาทางด้านตะวันออกจน ถึงตอนกลางของพื้นที่จังหวัด อยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา อำเภอจอมบึง และด้านตะวันตกของอำเภอปากท่อ อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอโพธาราม และ อำเภอบ้านโป่ง

3. พื้นที่ราบลุ่ม มีลักษณะเนื้อดินเป็นดินร่วนและดินร่วมปนดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ พบมากทางด้านตะวันออกบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ครอบคลุมพื้นที่ ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบ้านโป่งอำเภอโพธาราม อำเภอบางแพ อำเภอปากท่อ

4. พื้นที่ราบลุ่มต่ำ อยู่ในช่วงบริเวณตอนปลายของแม่น้ำแม่กลองที่เชื่อมต่อกับจังหวัดสมุทรสงครามครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวกและอำเภอวัดเพลง

สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดราชบุรี ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย แต่เนื่องจากมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นอยู่ทำให้พื้นที่ที่ติดกับเทือกเขามีฝนตกน้อย โดยฝนตกมากที่สุดในเดือนกันยายนและมักทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ทำให้สภาพอากาศของราชบุรีมี ๓ ฤดู คือ

1. ฤดูฝน มี ๒ ช่วง ช่วงแรก เริ่มเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม ช่วงที่สอง เดือนกันยายนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่เลื่อนลง มาจากทางภาคเหนือมาปะทะแนวเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้มีฝนตกชุกและตกหนัก แถบอำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา อำเภอจอมบึง และอำเภอโพธาราม ทำให้เกิด อุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาเป็นประจำทุกปี จากข้อมูลปริมาณน้ำฝน ของสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดราชบุรี พบว่า ปริมาณฝนมากที่สุดต่อเดือนวัด ได้ ๔๔๑.๕ มิลลิเมตร เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปริมาณฝนมากที่สุดต่อปี วัดได้ ๑,๕๑๓.๑ มิลลิเมตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และปริมาณฝนน้อยที่สุดต่อปี วัดได้ ๙๐๒.๗ มิลลิเมตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖

2. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จากข้อมูล อุณหภูมิของสถานี อุตุนิยมวิทยาจังหวัดราชบุรี อุณหภูมิต่ำที่สุดวัดได้ คือ ๙.๘ องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

3. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน จากข้อมูลอุณหภูมิของ สถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดราชบุรี อุณหภูมิสูงที่สุดวัดได้ คือ ๔๑.๕ องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๙
สิ่งที่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดใช้เป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาคือการวางมาตรการในการจัดการกับพื้นที่ที่ติดกับเทือกเขา ซึ่งมีฝนตกน้อย โดยฝนตกมากที่สุด ในเดือนกันยายน และมักทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม โดยการจัดสร้างหรือพัฒนาแหล่งน้ำ พร้อมทั้งการรักษาพื้น ที่ต้นน้ำของจังหวัดไว้และในขณะเดียวกัน ได้พิจารณาถึงการมีพื้นที่กักเก็บน้ำที่เชื่อมโยงตลอดลำน้ำหลักในรูปแบบของแก้มลิงตลอดลำน้ำ มีที่กักเก็บน้ำในพื้นที่การเกษตร เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ของภูมิอากาศ ที่จะไม่เกิดผลกระทบเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร